07 เมษายน 2552

๐๒ ขีดจำกัดของการแปรเปลี่ยน


เกิดความขัดแย้งในใจผมมากในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา รู้สึกถึงความไม่ชัดเจนในหนทางที่กำลังปฏิบัติ ยอมรับว่าเป็นช่วงที่ลำบากมากทีเดียว ผมให้เวลากับตนเองเพราะรู้ว่าความสับสนนี้จะผ่านไป และดีใจที่สับสนเพราะมันหมายความว่าจิตวิญญาณของผมกำลังเติบโตและพร้อมเปิดรับความเข้าใจใหม่ที่ลึกซึ้งขึ้น

คำสอนของหมู่บ้านพลัมกล่าวถึงการแปรเปลี่ยนความทุกข์สู่ความสุข ความสงบ และอิสรภาพ ในการปฏิบัติได้กล่าวถึงคลังวิญญาณที่เป็นดั่งฐานของจิตใจ ในคลังนี้ได้เก็บเมล็ดพันธุ์หรือเชื้อของอารมณ์ทั้งหมดที่เราสามารถมีได้ไม่ว่าจะเป็นความเบิกบาน ความสงบ สติ ความรัก ความเมตตา ความสนุก ความพอใจ ดีใจ ฯลฯ หรือความขุ่นเคือง ความโกรธ ความเกลียด อิจฉาริษยา หยิ่งยโส ความอยาก เกียจคร้าน ฯลฯ อารมณ์ทั้งหมดไม่ว่าสุขหรือทุกข์ล้วนถูกเก็บไว้ในคลังวิญญาณนี้ทั้งสิ้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมเช่นถูกกระตุ้นให้โกรธหรือถูกชมให้ดีใจ เชื้ออารมณ์ในฐานของใจก็พร้อมที่จะปรากฏขึ้นเสมอ ผมที่ดูเป็นคนร่าเริงในวันนี้หากถูกกระตุ้นให้โกรธขึ้นมาได้จริงๆ ก็อาจคลั่งถึงขนาดฆ่าคนด้วยมือเปล่า หรือผมที่ดูยิ้มแย้มเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุขแต่ถ้าเห็นคนที่เก่งกว่ามากๆ ก็อาจอิจฉาจนตาเขียวได้เช่นกัน คือเมื่อมีเหตุการณ์ที่เร้าอารมณ์ถ้าผมยังมีเชื้อของอารมณ์นั้นอยู่มันก็พร้อมที่จะปรากฏขึ้นเสมอ ความรุนแรงของอารมณ์นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผมมีเชื้ออยู่ในใจมากเพียงใด

คำสอนกล่าวว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะถอดถอนเชื้อของอารมณ์ในฐานของใจเพราะอารมณ์ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของใจเรา เราไม่สามารถตัดมันได้แต่เราสามารถเลือกหล่อเลี้ยง (ในภาษาพลัมเรียกว่ารดน้ำ) อารมณ์สุขและไม่หล่อเลี้ยงอารมณ์ทุกข์ ถ้าเมล็ดพันธุ์แห่งสติของเราแข็งแกร่งเราจะเป็นคนที่มีสติอยู่เสมอ รู้ทันอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจจนอารมณ์ทุกข์ไม่สามารถครอบงำเราได้ ถ้าเมล็ดพันธ์แห่งความทุกข์ของเราเหี่ยวเล็ก เราจะเป็นคนที่ทุกข์ยากและมีความสุขได้ง่ายในทุกสถานการณ์

สติช่วยให้เราตระหนักรู้ถึงอารมณ์ได้ละเอียดยิ่งขึ้น อารมณ์ที่เราไม่เคยรู้ทันมาก่อนเช่นความน้อยใจ สามารถเติบโตเป็นความขุ่นเคือง ความโกรธ ความเกลียด จนถึงความเคียดแค้นอาฆาตในที่สุด หรือความอยากมีคุณค่า ไม่รู้ทันก็จะกลายเป็นความอยากได้รับการยอมรับ อยากอวด ความอิจฉาริษยา และอารมณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นต่อไป

เมื่ออารมณ์ลบถูกรู้ทันเราจะไม่ตอบสนองมันด้วยการกระทำ คำพูด หรือคิดวกวนให้อารมณ์นั้นยิ่งกำเริบ หากแต่ใช้พลังแห่งสติโอบกอดมัน คือเพียงเฝ้าดูมันอย่างลึกซึ้งโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่นานความรุนแรงของอารมณ์ก็จะค่อยๆ อ่อนกำลัง เมื่อนั้นเราสามารถเชื้อเชิญอารมณ์ขั้วตรงข้ามขึ้นมาในจิตใจ เช่นเพื่อนคนนี้ทำให้ผมโกรธได้ง่าย ถ้าสติของผมแข็งแกร่ง ตอนที่ผมคุยกับเพื่อนคนนี้ผมรู้ทันความขุ่นเคืองเล็กๆ ในใจ ถ้าเป็นเมื่อก่อนการพูดคุยอาจกลายเป็นการโต้เถียงรุนแรงถึงขั้นแตกหัก แต่ตอนนี้ผมรู้ทันและชิงตัดบทสนทนาเพื่อกลับมาดูแลความขุ่นเคืองในใจ เมื่อมองอย่างลึกซึ้งผมเห็นว่าจริงๆ แล้วผมไม่ได้ขุ่นเคืองเขาหรอก ผมแค่น้อยใจที่เพื่อนคนนี้ไม่เคยรับฟังผมเลย และเหตุของความน้อยใจก็คือผมอยากให้เขาเข้าใจผม อยากให้เขาเห็นว่าผมมีคุณค่า เมื่อมองให้ลึกลงไปอีกผมเริ่มเห็นว่าเพื่อนคนนี้ก็ไม่ต่างไปจากผม เขาก็อยากให้ผมเข้าใจ อยากให้ผมเห็นคุณค่าของเขาเช่นเดียวกัน ตอนนี้ผมได้เชื้อเชิญความกรุณา (เห็นความทุกข์ของผู้อื่นและรู้สึกอยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์) ขึ้นมาจนใจผมเกิดเมตตา (อารมณ์รักและเต็มใจที่จะทำให้เขาเป็นสุข) สามารถรับฟังความเห็นของเขาโดยยอมปล่อยวางความเห็นของตน

อารมณ์ทั้งหมดมีศักยภาพในการแปรเปลี่ยนสู่อีกขั้วหนึ่งเสมอ ทุกข์และสุขเป็นเพียงสองด้านของเหรียญเดียวกัน โกรธสามารถกลายเป็นรัก โลภเป็นความใจกว้าง โง่เป็นปัญญาความเข้าใจได้ หัวใจของการปฏิบัติคือการมีสติที่เฉียบขาดรู้ทันอารมณ์ และสามารถแปรเปลี่ยนอารมณ์ทุกข์ทั้งหมดในใจสู่อารมณ์เชิงบวก สู่จิตบริสุทธิ์ที่เปี่ยมด้วยความเบิกบาน ความสงบ ความรัก และความเข้าใจ

เป็นการปฏิบัติที่ชัดเจนแต่ผมรู้สึกว่ายังไม่จบ มีคำพูดหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่เมื่อก่อนผมรู้สึกต่อต้าน คำพูดนั้นคือ “ชีวิตนี้เป็นทุกข์” ผมเคยมีความเห็นว่าชีวิตนี้เป็นทั้งทุกข์และสุข รากศัพท์ของคำว่าทุกข์ในภาษาจีนคือ “ขม” ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า “หวาน” ชีวิตก็เช่นเดียวกันมีทั้งขมและหวาน มีทั้งทุกข์และสุข และเราสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นสุขหรือทุกข์ หัวใจสู่ความสุขก็คือการปฏิบัติเพื่อแปรเปลี่ยนพลังลบและหล่อเลี้ยงพลังบวกในจิตใจ เมื่อก่อนผมเคยเข้าใจเช่นนี้แต่บัดนี้ผมเห็นแล้วว่าปัญญานี้ยังไม่สมบูรณ์

คำว่าทุกข์ในภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้สื่อสารไม่ได้แปลว่าขมแต่แปลว่า “สภาพที่ทนอยู่ไม่ได้” จิตใจก็เช่นเดียวกันเป็นสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีทางที่มันจะสุขหรือทุกข์ถาวร วันนี้สุขพรุ่งนี้ทุกข์ ถ้ามีการปฏิบัติก็เป็นสุข ถ้าปฏิบัติไม่เพียงพอก็เป็นทุกข์ ต้องมีความพยายามหล่อเลี้ยงจิตใจนี้ให้เป็นสุขและปราศจากทุกข์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ พระพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นสิ่งที่ก้าวพ้นจากคำสอนของมหาปราชญ์ทั้งหมดที่เคยถูกบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์ ท่านได้กล่าวว่า “การดับซึ่งความทุกข์โดยสิ้นเชิงถาวรนั้นเป็นไปได้” สภาวะนี้ท่านเรียกว่า “นิพพาน”

หลวงพ่อปราโมทย์เคยกล่าวว่าจุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่เพื่อความสุขแต่เป็นการปฏิบัติเพื่อความจริง จริงที่ในขั้นพื้นฐานนั้นเราต้องฝึกให้จิตมีความสุขก่อน ทำจิตที่สับสนให้สงบ จิตที่ทุกข์ให้เป็นสุข และใช้ความสุขนี้เป็นกำลังเพื่อมองอย่างลึกซึ้งเข้าไปสู่ความเป็นจริงที่ก้าวพ้นทุกข์และสุข อยู่เหนือบาปและบุญที่เป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน ความจริงนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยความคิดแต่เข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติ (มรรค ๘) ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้เพียงเท่านั้น

ที่สุดของการปฏิบัติจึงไม่ใช่เพื่อเข้าถึงจิตบริสุทธิ์ที่เปี่ยมด้วยความเบิกบาน ความสงบ ความรักและความเข้าใจ มันลึกซึ้งและก้าวพ้นการพัฒนาจิตใจจนถึงความสมบูรณ์แบบซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่จิตจะเป็นทุกข์หรือสุขโดยถาวร พระพุทธเจ้ากล่าวว่าสภาวะที่เป็นอิสระจากจิตใจนี้มีอยู่จริง และสภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของจิตใจว่าเป็นเช่นไร เราจะเข้าถึงสภาวะนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเกิดปัญญา

ปัญญาที่ปลดปล่อยจากพันธนาการของจิตใจ ปัญญาที่ถอนรากถอนโคนความยึดมั่นถือมั่นว่าจิตใจนี้เป็นตัวเราของเรา ผมเติบโตอย่างมหาศาลจากหมู่บ้านพลัมในเวลาเพียงแค่ปีกว่า จิตใจของผมแปรเปลี่ยนจากความมืดสู่แสงสว่างชนิดที่จำกันแทบไม่ได้ เพียงแต่บัดนี้การปฏิบัติของผมไม่ได้เป็นเพียงเพื่อพัฒนาจิตให้เป็นสุขเท่านั้น แต่เป็นการปฏิบัติสู่ความเป็นอิสระจากจิตใจนี้ที่หาความแน่นอนไม่ได้


ธีร์ พลัง
เที่ยงคืนกว่าของวันที่ ๒๖ มีนา ๕๒

ไม่มีความคิดเห็น: